“คือ คุณสมบัติของผู้ที่มีความรู้ เพราะได้ศึกษาภาคทฤษฎีมามาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสามขั้นตอนของเหตุแห่งการสร้างภูมิปัญญา
๑. พหุสสุตา คือ ได้ศึกษาเล่าเรียน สดับฟังหรืออ่านหนังสือมามาก
๒. ธตา ทรงจำได้ คือ สามารถทรงจำหลัก สาระของเนื้อความเอาไว้ได้อย่างแม่นยำ
๓. วจสา ปริจิตา คือ ท่องบ่นหรือพูดหรืออ่านเขียนซ้ำๆ อยู่เสมอจนคล่องแคล่วชัดเจน
๔. มนสานุเปกขิตา เพ่งขึ้นใจ คือ ใส่ใจนึกคิด ทบทวนอย่างสม่ำเสมอจนเจนใจ นึกถึงครั้งใดก็ปรากฏเนื้อ
ความกระจ่างชัดทุกที
๕. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา ขบได้ด้วยทฤษฎีหรือแทงตลอดด้วยทิฏฐิ (ความเห็น) คือ มีความเข้าใจลึกซึ้งจน
สามารถประยุกต์ให้เข้ากันได้กับทุกๆ ทฤษฎี ทั้งในแง่ความหมายและเหตุผล คุณสมบัติทั้ง ๕ ประการนี้จัด
เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในสามแนวทางของการเกิดภูมิปัญญา ปัญญามี ๓ คือ
จินตามยปัญญา สุตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา
๑. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา โดยอาศัยข้อมูลสมมติฐานของตัวเองเป็นหลัก เช่น บุญคือ ใส่บาตรพระ
๒. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนตามหลักพหูสูตมีองค์ ๕ ซึ่งนอกจากจะเป็นการคิดพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ในตัวเองแล้ว ยังอาศัยข้อมูลจากภายนอกเสริมสนับสนุนด้วย ซึ่งได้แก่ การแนะนำสั่งสอนของครูอาจารย์ หรือนักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย อันจะช่วยทำให้มีทัศนะกว้างไกลและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น เช่น บุญเป็นชื่อของความสะอาดอันเกิดจากการชำระบาปหรือสิ่งสกปรกในใจ โดยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ และฝึกฝนอบรมจนประจักษ์ชัดเป็นประสบการณ์จริง โดยไม่ต้องจินตนาการหรืออาศัยคำบอกเล่าจากผู้ใด สามารถก้าวล่วงภาคทฤษฎีมาสู่ผลของการปฏิบัติได้อย่างเต็มตัว เช่น บาปเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ผู้ละบาปได้จึงมีความสุข รู้ได้ด้วยตนเอง อุปมาที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องปัญญา ๓ ได้ง่ายก็คือ อุปมาเรื่อง ความรู้เรื่องช้างของคนตาบอด ๒ ประเภท กับความรู้ของคนตาดี คือ คนตาบอดบางคนไม่รู้จักและไม่เคยรู้เรื่อง ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องของช้างมาก่อนเลยเขาอาศัยการลูบๆ คลำๆ อวัยวะบางส่วนในตัวช้างมาเป็นความรู้ แล้วสรุปเอาเองว่าช้างเป็นอย่างไร เช่น จับที่ศีรษะช้างแล้วสรุปว่าช้างเหมือนหม้อน้ำ ส่วนคนตาบอดประเภทที่ ๒ นอกจากจะอาศัยการคลำด้วยตนเองแล้ว เขายังเคยได้ยิน ได้ฟังเรื่องของช้างมาเป็นอย่างดีอีกด้วย ดังนั้น เขาจึงมีความรู้เรื่องช้างมากมาย จนสามารถพูดลักษณะของช้างได้อย่างใกล้เคียง เช่น ช้างมีศีรษะเหมือนหม้อน้ำ มีหูเหมือนกระด้ง มีงวงเหมือนงอนไถ มีตัวเหมือนฉางข้าว มีขาเหมือนเสาเรือน มีปลายหางเหมือนไม้กวาด แต่ก็ยังคงไม่ใช่ช้างอยู่ดีนั่นแหละ ส่วนคนตาดีที่มองเห็นชัดอยู่ สำหรับเขาแล้ว ช้างก็ต้องเป็นและเหมือนช้างอยู่ดีจะเป็นหรือเหมือนหม้อน้ำ กระด้ง ไม้กวาด ฯลฯ ได้อย่างไร.....ความรู้ของคนตาบอดประเภทแรกนั้น ก็เปรียบได้กับ จินตามยปัญญา (คลำแค่จุดเดียว แต่ก็เหมาเอาว่าเป็นทั้งหมด) ส่วนความรู้ของคนตาบอดประเภทที่ ๒ ก็เปรียบได้กับ สุตมยปัญญา (เหตุผลอาจจะทำให้คนเข้าใจความจริงได้ แต่ทำให้คนเข้าถึงความจริงไม่ได้)และความรู้ของคนตาดี ก็เทียบได้กับ ภาวนามยปัญญา (เหตุผลที่ถูกต้อง จะปรากฏหลังการเข้าถึงความจริงได้แล้วเท่านั้น) แต่ไม่ว่าเราจะมีความรู้ระดับใด ถ้าจิตใจของเรายังคงขาดธรรมะอยู่ก็ถือว่าไร้ประโยชน์ทั้งนั้นเพราะหากเรายังไม่มีธรรมะแล้ว ต่อให้มีความรู้มากเพียงใด ก็ยังคงไม่เป็นหลักประกันว่าจะสามารถทำให้ชีวิตของเราเจริญรุ่งเรืองในทางที่ถูกต้องได้อยู่ดี อุปมาความรู้เปรียบเหมือนกับม้า ยิ่งมีความรู้มากเท่าใดม้าก็ยิ่งแข็งแรงและมีฝีเท้าเร็วขึ้นเท่านั้น ส่วนธรรมะเปรียบเหมือนสายบังเหียนควบคุมม้าให้พาเราไปในทางที่ถูกต้องโดยสวัสดิภาพ (ทางเจริญ ทางดับทุกข์) คนที่มีม้าดีขี่ แต่ควบคุมม้าไม่ได้ (พาไปทางเสื่อม เพิ่มทุกข์) กับคนที่มีม้าดีหรือเลวก็แล้วแต่ แต่สามารถควบคุมม้าได้ ใครจะได้รับประโยชน์จากม้ามากกว่ากัน.....”
ที่มา : พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๘๗
รัตนาวลี ลิปิกร