นิทานธรรม ดำริ คติสอน
เป็นคำกลอน ย้อนกล่าว เรื่องราวนี้
จงน้อมนำ จำไว้ สิ่งใดดี
ค่าทวี มีผล กับตนเอง
ณ.เมืองใหญ่ ในก่อนกาล พาราณสี
พ่อลูกนี้ ฝีมือกลอง ช่ำชองเก่ง
รู้เจนจบ ครบถ้วน กระบวนเพลง
จังหวะเร่ง บรรเลงช้า เลิศกว่าใคร
ที่ถิ่นฐาน ชานเมือง รู้เรื่องข่าว
ว่าถึงคราว เทศกาล เป็นงานใหญ่
จัดให้มี ตีกลอง ประลองชัย
ชนะได้ ให้รางวัล กำนัลทอง
ออกเดินทาง พลางซ้อม จนพร้อมแข่ง
หลังแสดง แจ้งผล ทุกคนจ้อง
ผู้สมหวัง ครั้งนี้ นักตีกลอง
รางวัลครอง สองพ่อลูก ช่างถูกใจ
เก็บข้าวของ ทองรับ กลับถิ่นฐาน
ก่อนถึงบ้าน ผ่านป่า โจรอาศัย
กลัวถูกปล้น บนทาง ที่กลางไพร
ทำอย่างไร ใจขยาด แสนหวาดหวั่น
ครั้นตรองตรึก นึกออก บอกลูกว่า
พระราชา เสด็จไป ที่ใดนั้น
ตั้งขบวน สวนสนาม ให้ครามครัน (ครามครัน = มาก ,หลาย ,นัก)
ใช้กลองลั่น เป็นสัญญาณ ถึงการมา
ตีให้แรง แบ่งครั้ง เป็นจังหวะ
โจรเปะปะ ผละหนี หลบลี้หน้า
ด้วยเสียงดัง ดั่งกลอง ของราชา
เดินเข้าป่า ครานี้ ไม่มีำภัย
ตกลงกัน ขั้นต้น ลูกขนของ
มาขอร้อง ลองที บอกตีได้
พ่อว่าซ้อม พร้อมก่อน อย่านอนใจ
ข้อสงสัย ไม่ข้าม จงถามมา
อันกลองย่ำ นำขบวน ควรตระหนัก
ต้องถูกหลัก รู้หนักเบา จึงเข้าท่า
ปล่อยลูกตี ทีแรก ไม่แปลกตา
ความหรรษา พาคึก นึกคะนอง
ตามใจตัว รัวถี่ เร่งตีดะ
อิสระ จังหวะเพิ่ม แต่งเติมคล่อง
รีบร้องปราม ห้ามบุตร หวังหยุดกลอง
ยิ่งผยอง มองข้าม ไม่คร้ามครั่น (คร้ามครั่น = สะทกสะท้านด้วยความกลัว)
กลองที่ดัง ครั้งแรก จำแนกว่า
ทหารกล้า พาขบวน โจรป่วนปั่น
เตรียมจะหลีก อีกทาง ระหว่างนั้น
จังหวะผัน กระชั้นชิด มันผิดไป
เหล่าโจรไพร ไม่ขยับ สดับนิ่ง
ตีถี่จริง ยิ่งงง แสนสงสัย
แอบซุ่มดู จนรู้แน่ ที่แท้ใคร
หลอกกันได้ แค้นใจหนัก สองนักกลอง
เข้าจู่้โจม โถมใส่ ไม่ให้หนี
ทั้งต่อยตี เตะเข่า เอาศอกถอง
น่วมไปหมด ปลดทรัพย์สิน สิ้นเงินทอง
สุดหม่นหมอง ตรองเหตุ ถึงเภทภัย
เพราะความดื้อ ถือตน ส่งผลหนัก
พ่อนั้นทัก ตักเตือน เจ้าเลื่อนไหล
ไม่มีรั้ง จังหวะ เอาสะใจ
เร่งตีใหญ่ ใส่เลยเถิด จนเกิดความ
คติธรรม ที่นำผ่าน นิทานนี้
ยกวิธี การตีกลอง อย่ามองข้าม
ถูกจังหวะ จะโคน เกิดผลงาม
ทำนองทราม หยามโกรธ มีโทษทัณฑ์
อุปมา ฉันใด ในข้อนี้
วาจามี อุปมัย ในฉันนั้น
รู้การพจน์ รจนา ค่าอนันต์
พร่ำรำพัน เกินจำเป็น จะเข็ญใจ
ยิ่งพูดมาก ปากล้ำ พูดพร่ำเพรื่อ
รำคาญเบื่อ ไม่เชื่อถือ คือผลได้
รู้ประมาณ สานประโยชน์ ไร้โทษภัย
เช่นกลองชัย ได้จังหวะ ขณะตี
อีกข้อหนึ่ง ซื่งก็คือ ความดื้อรั้น
ตามใจฉัน ครั้นตักเตือน บิดเบือนหนี
อันพ่อแม่ แท้ความรัก ความหวังดี
เอื้้ออารี ชี้ความจริง แก้สิ่งผิด
การบำรุง บิดา และมารดา
กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
สามสิบแปด มงคล ผลชีวิต
สองข้อคิด เพียงตัวอย่าง ทางเจริญ .................... ออมสิน ๐๙.๑๒.๒๕๕๔
มงคลชีวิต 38 ประการ
มงคล คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งมี ๓๘ ประการได้แก่
๑. การไม่คบคนพาล
๒. การคบบัญฑิต
๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร
๕. เคยทำบุญมาก่อน
๖. การตั้งตนชอบ
๗. ความเป็นพหูสูต
๘. การรอบรู้ในศิลปะ
๙. มีวินัยที่ดี
๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
๑๑.การบำรุงบิดามารดา
๑๒.การสงเคราะห์บุตร
๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา
๑๔.ทำงานไม่ให้คั่งค้าง
๑๕.การให้ทาน
๑๖.การประพฤติธรรม
๑๗.การสงเคราะห์ญาติ
๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ
๑๙.ละเว้นจากบาป
๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒.มีความเคารพ
๒๓.มีความถ่อมตน
๒๔.มีความสันโดษ
๒๕.มีความกตัญญู
๒๖.การฟังธรรมตามกาล
๒๗.มีความอดทน
๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย
๒๙.การได้เห็นสมณะ
๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล
๓๑.การบำเพ็ญตบะ
๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์
๓๓.การเห็นอริยสัจ
๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก
๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส
๓๘.มีจิตเกษม
*กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต*(๑๐)
วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้วมิใช่สักแต่พูด
ความแปลกของอวัยวะในร่างกาย
ตา มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ ตา
หู มีหน้าที่ ฟังอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ หู
จมูก มีหน้าที่ดมกลิ่นอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ รู
แต่ปาก มีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว แสดงว่าธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มากแต่พูดให้น้อย ๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปากจะกินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูดให้พอดี ลักษณะคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟังเรียกว่า วาจาสุภาษิต
องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต
๑.ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้นไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความต้องเป็นเรื่องจริง จริง จริง
๒.ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ
๓.พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟังถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพแต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรกลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด
๔.พูดไปด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่ง ๆขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธ มีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด
๕.พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพเป็นควำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะไม่ถูกกาลเทศะผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป
-พูดถูกเวลา (กาล) คือ รู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
-พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือ รู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไร จึงควรที่จะพูดหากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร "คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย" "คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด"
*การบำรุงบิดามารดา*(๑๑)
ท่านว่าพ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก ความหมายโดยละเอียด คือ
ที่ว่าเป็น "ครู" ของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูก เป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก
ที่ว่าเป็น"เทวดา"ของลูก เพราะว่าท่านจะคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน
ที่ว่าเป็น "พรหม" ของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร ๔ คือ
-มีเมตตา หมายถึงความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุกๆด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด
-มีกรุณา หมายถึงให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้
-มีมุทิตา หมายถึงความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง
-มีอุเบกขา หมายถึงการวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้
ที่ว่าเป็น "อรหันต์" ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม ๔ ประการ ได้แก่
-เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อลูก คืออุปการะเลี้ยงดูมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
-เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่างๆ นานา
-เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้
-เป็นผู้รับผลบุญที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้วทางตรง
-เป็นอาหุไนยบุคคล คือเป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือและรับของบูชา เพื่อเทอดทูนไว้เป็นแบบอย่าง
การเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าไว้ ดังนี้
๑.ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือพยายามให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการทำดี
๒.ถ้าท่านยังไม่มีศีล ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล คือพยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล ๕ ให้ได้
๓.ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน คือพยายามให้ท่านรู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน
๔.ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา คือพยายามให้ท่านหัดนั่งทำสมาธิภาวนาให้ได้